วันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2561

ศาสตร์การพูดทางด้านการเมือง


วาทะวาที : ศิลปะการพูดทางด้านการเมือง
โดย...ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์(ดร.โทนี่)
ที่ปรึกษาด้านภาพลักษณ์และการสื่อสารขององค์กร
www.drsuthichai.com
                การพูดทางการเมือง เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เพราะการพูดทางการเมือง หากเรานำไปใช้ยังสถานที่หนึ่งแล้วได้ผล แต่เราอาจจะนำเอาคำพูดไปใช้อีกที่หนึ่งไม่ได้ผลก็ได้   อีกทั้งเวลาเปลี่ยนไป การพูดทางการเมืองก็ต้องมีการปรับประยุกต์ให้เข้ากับเหตุการณ์นั้นๆ
                การพูดทางการเมือง มีทั้งการพูดก่อนหาเสียง ในระหว่างการหาเสียง การพูดหลังหาเสียง การพูดให้สัมภาษณ์นักข่าว และการพูดในรัฐสภา สำหรับการพูดในรัฐสภา ผู้พูดจะต้องเรียนรู้เรื่องการตั้งกระทู้ การตอบกระทู้ การอภิปราย การมีไหวพริบในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า รวมถึงการเรียนรู้กฎระเบียบต่างๆในการประชุม
                การปราศรัยทางการเมืองนั้น ถ้าจะพูดไปแล้ว  เป็นเพียงการปูความศรัทธาของผู้เลือกอย่างผิวเผิน เพราะถ้าเราจะปราศรัยทางการเมืองได้ดีพิเศษ สุดยอดสักเพียงใด ถ้าคนจะไม่เลือกเราเสียอย่างหรือตั้งใจจะไม่เลือกเสียแล้ว ยากมากเลยครับ  ที่จะโน้มน้าวคนให้มาเลือกเรา เนื่องจากคนที่ไปฟังเราหาเสียงนั้นมีอยู่ 3 พวกก็คือ พวกที่ 1 พวกเตรียมไปเลือกเราอยู่แล้วหรือมีความตั้งใจจะเลือกอยู่แล้ว หากว่าเราพูดได้ดีเขาก็ยิ่งเกิดความเชื่อมั่น เกิดความศรัทธา  พวกที่ 2 พวกตั้งใจจะไม่เลือกเราอยู่แล้ว ถึงเราจะพูดดีอย่างไร เขาก็จะไม่เลือก พวกที่ 3 พวกที่กลางๆ คือพวกที่ยังไม่รู้ว่าจะเลือกใคร หากว่าเราพูดได้ดี เขาก็จะมีโอกาสเปลี่ยนใจมาเลือกเรา แต่หากเราพูดไม่ดี เขาก็จะเปลี่ยนใจไปเลือกคนอื่น
                การพูดทางการเมือง กับ การวิเคราะห์พื้นที่เลือกตั้ง การพูดทางการเมืองในชนบทกับในเมืองใหญ่ๆ มีความแตกต่างกัน อีกทั้งการหาเสียงในหมู่บ้านก็มีความแตกต่างกันอีก เช่น ในพื้นที่กรุงเทพฯ ในการหาเสียงเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการจังหวัด หากท่านไม่สังกัดพรรคใดๆ โอกาสที่จะได้รับการเลือกตั้งน้อยมากถึงแม้ท่านจะพูดเก่งสักเพียงใด แต่หากว่า ท่านสังกัดพรรคการเมืองที่ดีแล้ว ท่านพูดเก่งด้วย โอกาสจะได้รับการเลือกตั้งมีอยู่สูงมาก สำหรับการหาเสียงในเมืองหรือเมืองใหญ่ ส่วนใหญ่จะใช้เวทีการปราศรัยใหญ่ มากกว่าเดินตามห้องแถว เพราะเราจะเดินทุกห้องก็คงยากเนื่องจากเวลามีจำกัด
                การแต่งกลอนในการพูด ก็มีความสำคัญเพราะจะทำให้คนจดจำได้ง่ายขึ้น เช่น
อยากได้ผู้แทน เป็นคนเก่ง   ต้องเลือกเบอร์ 5
อยากได้ผู้แทน เป็นคนดี     ต้องเลือกเบอร์  5
อยากได้ผู้แทน  เป็นที่พึ่ง    ต้องเลือกเบอร์   5
อยากได้ผู้แทน   ใช้คล่อง   ต้องเลือกเบอร์  5

อยากได้ผู้แทน   มีฝีมือ   ต้องเลือกเบอร์  5
                ฉะนั้นการแต่งกลอนเพื่อนำไปพูดประกอบการหาเสียง จะสร้างการจดจำเบอร์ของผู้สมัครได้ง่าย อีกทั้งประชาชนในพื้นที่จะจำติดปาก
                การพูดทางการเมืองที่ดี ต้องมีการพูดที่มาจากใจ  มีความจริงใจ  มั่นใจ มีความเชื่อมั่นในตนเอง แต่อย่าย่ามใจ ชะล่าใจ  อีกทั้งไม่ควรพูดโกหก วิธีการไม่โกหก ก็คือ เรื่องใด ถ้าจะพูดโกหก ก็ไม่ต้องพูด  เฉยเสีย  นิ่งเสีย  เพราะการพูดโกหก จะมีผลเสียมากกว่าผลดี และผู้พูดทางการเมืองก็จะจำไม่ได้ว่า เรื่องใดได้พูดโกหกออกไป ดังคำกล่าวของ ลินคอล์นที่ว่า “ ท่านอาจโกหกคนบางคนได้ตลอดเวลา  ท่านอาจจะโกหกคนทุกคนได้ตลอดเวลา   แต่ท่านไม่สามารถโกหกคนทุกคนได้ทุกเวลา ”  ถ้าเช่นนั้น นักพูดทางการเมืองที่ดีจึงไม่ควรโกหกประชาชน
                ตัวอย่างเช่น หากท่านเป็นนายกรัฐมนตรี นักข่าวถามว่า “ ท่านครับ มีข่าวลือว่าท่านจะมีการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีหรือครับ”  หากเป็นความจริงแล้ว  ท่านปฏิเสธว่า “ ไม่มี ” แต่ อีกไม่กี่วันท่านมีการปรับเปลี่ยน ประชาชนก็จะไม่ศรัทธาในคำพูดของท่าน แต่ ถ้าท่านบอกว่า “ จะมีการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีอีก สองวันข้างหน้า”  ก็จะเกิดความวุ่นวาย เกิดความขัดแย้งภายในรัฐบาลได้ ฉะนั้น หากท่านเป็นนักพูดทางการเมืองที่ดี ท่านจะพูดหาทางออกอย่างไร แต่มีนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งซึ่งกระผมไม่ขอเอ่ยนามกล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า “ เอาข่าวมาจากไหน ” นักข่าวตอบว่า “ ข่าวลือครับท่าน” นายกรัฐมนตรีท่านนั้นตอบกลับทันทีว่า “ อ้อ ข่าวลือหรือ  ข่าวลือมันก็คือข่าวลือ”  เราจะเห็นได้ว่า นายกรัฐมนตรีท่านนี้ ไม่ได้ตอบว่า มีการปรับหรือไม่มีการปรับรัฐมนตรี  อีกทั้งไม่ได้โกหกด้วย
                ตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่ง  ในสมัยหนึ่ง มีข่าวว่า  มีนักบินคนหนึ่งเคยเห็นหลวงปู่แหวนลอยอยู่บนท้องฟ้า จึงมีคนไปถาม หลวงปู่แหวนว่า “ หลวงปู่ หลวงปู่เหาะได้หรือ”  ถ้าหลวงปู่บอกว่า “ เหาะได้” ก็จะเข้าข่ายอวดอุตตริมนุษยธรรม แต่ถ้าบอกว่า “ เหาะไม่ได้” ทั้งที่ เหาะได้ ก็จะเข้าข่าย มุสา  หลวงปู่ตอบว่า “อาตมาไม่ใช่นกเนี่ย ” ผิดไหมไม่ผิด เพราะหลวงปู่แหวนไม่ใช่ นก  เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น