วันพุธที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2560

เรียนภาษาอังกฤษให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง


เรียนภาษาอังกฤษให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง

โดย....ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก


                การเรียนภาษาอังกฤษให้มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง มีความสำคัญมากต่อกระบวนการเรียนรู้ภาษาอังกฤษแบบฝังเข้าไปในจิตใต้สำนึก ถามว่าคนไทยเราเรียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เด็กอนุบาลยันถึงมหาวิทยาลัย แต่ถามว่าทำไมเราถึงพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ หรือแม้แต่ทักษะอื่นๆ คือ ฟัง อ่านและเขียน เราก็ไม่เก่งเท่าที่ควร

                สาเหตุหนึ่ง เกิดการกระบวนการเรียนภาษาอังกฤษเรา ขาดการเรียนแบบให้นักเรียนเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เราจะสังเกตว่า แบบเรียนหรือหนังสือเรียนภาษาอังกฤษที่ให้เด็กนักเรียนเรียน เด็กนักเรียนจะต้องเรียนแบบเรียนแต่ละชั่วโมงไม่ซ้ำกัน เช่น วันนี้เรียนบทที่ 1  พรุ่งนี้เรียนบทที่ 2 มะรืนนี้เรียนบทที่ 3 มะเรื่องนี้เรียนบทที่ 4  เป็นต้น

                กล่าวคือเด็กนักเรียนจำเป็นจะต้องเรียนให้จบตามหลักสูตรหรือเรียนตามแผนการสอนที่ครูได้วางเอาไว้ ทำให้เด็กนักเรียนไม่มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในแบบเรียนอังกฤษแต่ละบท และเมื่อเลื่อนชั้นจาก ป.1 ขึ้น ป.2 ขึ้น ป.3 ก็ต้องเรียนแบบเรียนหรือหนังสือภาษาอังกฤษเล่มใหม่

                ถ้าถามว่า “ แล้วจะทำให้อย่างไร ถ้าต้องการเรียนภาษาอังกฤษให้มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ” ผมขอตอบอย่างนี้ครับ เราจำเป็นจะต้องใช้กระบวนการเรียนซ้ำหรือทำซ้ำ เพราะการทำซ้ำเป็นหัวใจที่ทำให้เกิดทักษะหรือประสบการณ์ทางด้านภาษาอังกฤษเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้ความเข้าใจภาษาอังกฤษฝังรากลึกไปยังจิตใต้สำนึก

                 สมัยกระผมเด็กๆ ผมก็เรียนภาษาอังกฤษแบบเด็กนักเรียนไทยทั่วไปกล่าวคือ เรียนภาษาอังกฤษแบบเข้าใจอย่างผิวเผิน เพราะต้องเรียนเรื่องใหม่ๆตลอดเวลา เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งที่กระผมเรียนรู้ก็พลอยลืมเลียนไปด้วย ต่อมาเมื่อกระผมรู้เทคนิคในการเรียนรู้แบบทำซ้ำ จึงทำให้ภาษาอังกฤษอยู่ติดตัวกระผมและสามารถดึงเอาออกมาใช้ได้ตลอดเวลา

                ในบทความฉบับนี้เราจะมาพูดถึงเทคนิคนั้น วิธีการก็คือ จงเรียนรู้ภาษาอังกฤษจากแบบเรียนที่ง่ายๆก่อน แล้วพยายามทำซ้ำ ไม่ว่าจะโดยการฟัง การพูด การอ่าน การเขียน เมื่อทำซ้ำมากๆจนเข้าใจเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วจึงเปลี่ยนไปเรียนแบบเรียนที่มีความยากขึ้นอีกนิดหนึ่ง แล้วทำซ้ำ จนเข้าใจเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วเปลี่ยนไปเรียนแบบเรียนที่ยากขึ้นอีกระดับหนึ่ง ถ้าท่านทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ภาษาอังกฤษของท่านจะพัฒนาไปทีละระดับ และที่สำคัญก็คือท่านจะไม่ลืม

                ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเริ่มหัดภาษาอังกฤษโดยต้องการพัฒนาทักษะทางด้านการฟัง ขอให้ท่านเริ่มจากการฟังนิทานของเด็ก โดยฟังซ้ำไปเรื่อยๆ เพราะการฟังครั้งแรกท่านอาจจะเข้าใจแค่ 30 % พอครั้งที่สอง อาจจะเข้าใจเพิ่มเป็น 35% พอครั้งที่สาม อาจจะเข้าใจเพิ่มเป็น 40% พอครั้งที่สี่ อาจจะเข้าใจเพิ่มเป็น 45% พอครั้งที่ห้าอาจจะเข้าใจเพิ่มเป็น 50% พอครั้งที่หก อาจจะเข้าใจเพิ่มเป็น 55% ครั้งที่เจ็ด อาจจะเข้าใจเพิ่มเป็น 60%  ครั้งที่แปด อาจจะเข้าใจเพิ่มเป็น 65%  ครั้งที่เก้า อาจจะเข้าใจเพิ่มเป็น 70% ครั้งที่สิบ อาจจะเข้าใจเพิ่มเป็น 75% ครั้งที่สิบเอ็ด อาจจะเข้าใจเพิ่มเป็น 80% ครั้งที่สิบสอง อาจจะเข้าใจเพิ่มเป็น 85% ครั้งที่สิบสาม อาจจะเข้าใจเพิ่มขึ้นเป็น 90% เป็นต้น

                ส่วนตัว กระผมเองต้องขอบอกว่า กระผมเคยฟังนิทานหรือเรื่องราวบางเรื่องมากกว่า 100 ครั้งขึ้นไป จนกระทั่งจำและเข้าใจนิทานภาษาอังกฤษหรือเรื่องราวนั้นๆได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

                ดังนั้น ถ้าสมมุติว่าท่านต้องการพัฒนาทักษะด้านการอ่านภาษาอังกฤษ  ขอให้ท่านเริ่มหัดอ่านภาษาอังกฤษที่ง่ายๆก่อนแล้วไปหายากขึ้น โดยเริ่มจากการอ่านนิทานของเด็ก โดยการอ่านซ้ำไปเรื่อยๆ อาจจะอ่านเป็น 10 ครั้ง 20 ครั้ง 30 ครั้ง  จนกระทั่งมีความเข้าใจเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วจึงเปลี่ยนไปอ่านนิทานเรื่องใหม่ แล้วอ่านนิทานเรื่องใหม่ซ้ำไปซ้ำมาอีก 10 ครั้ง 20 ครั้ง 30 ครั้ง  จนกระทั่งมีความเข้าใจเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วจึงเปลี่ยนไปอ่านนิทานเรื่องใหม่ที่มีความยากที่มากขึ้น

                ถามว่าถ้าเราใช้เทคนิคในการเรียนซ้ำแบบนี้จะทำให้เรียนภาษาอังกฤษช้าไหม คำตอบก็คือ เรียนช้าครับ แต่มันทำให้ภาษาอังกฤษของเรามีความหนักแน่นและอยู่ติดตัวของเราอย่างยาวนาน อีกทั้งยังเข้าใจรูปแบบของแกรมม่า(Grammar)มากยิ่งขึ้น  แต่ถ้าเราเรียนแบบรวดเร็วอย่างในอดีตคือตอนที่เราเรียนอนุบาลถึงมหาวิทยาลัย มันพิสูจน์มาแล้วว่าเราเรียนแบบผ่านๆ ถามว่าเราจำสิ่งที่เราเรียนไปในอดีตได้กี่เปอร์เซ็นต์

                เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ตอนเรียนภาษาอังกฤษ ครูภาษาอังกฤษมักจะสอนประโยคเหล่านี้ให้แก่นักเรียนไทย โดยถามหลายๆรอบ จนเด็กนักเรียนของไทยเราจดจำได้ก็เพราะการถามซ้ำไปถามซ้ำมา คือประโยค Good morning . How are you?  I am fine. Thank you and you? เป็นต้น

            เช่นกันครับ เด็กชาวอเมริกา พ่อแม่ชาวอเมริกาพูดคำว่า Good morning,Thank you , How are you?กับลูกๆ เกือบทุกๆวัน หากนับได้อาจเป็น ร้อยครั้ง พันครั้ง  จนกระทั่งเด็กมีความเข้าใจคำว่า Good morning , Thank you  , . How are you? โดยไม่ต้องมีการแปล  นี่ก็เพราะการพูดซ้ำและการฟังซ้ำนั่นเอง

                ดังนั้น ถ้าเราต้องการเรียนภาษาอังกฤษให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง ถ้าเราต้องการฝึกทักษะในด้านใด(ฟัง พูด อ่านและเขียน) เราควรฝึกทักษะด้านนั้นโดยการทำซ้ำไปซ้ำมาหลายๆรอบจนเกิดทักษะ แล้วการเรียนภาษาอังกฤษของท่านจะพัฒนาขึ้นไปทีละระดับและที่สำคัญมันจะอยู่ติดตัวท่านตลอดไป  

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น