อัตลักษณ์ของนักพูด...มีผลต่อการพูดจูงใจคน
โดย....ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก
อัตลักษณ์ของนักพูดมีความสำคัญต่อการพูดเป็นอย่างมาก
เพราะอัตลักษณ์จะทำให้คนเลื่อมใสศรัทธานิยมชมชอบนักพูด
ในทางกลับกันถ้านักพูดมีอัตลักษณ์ที่ไม่ดี ก็จะทำให้ผู้ฟังเกิดความระแวงแคลงใจ
ขาดความศรัทธาในตัวของนักพูด อีกทั้งส่งผลต่อการพูดอีกด้วย
ผู้อ่านหลายคนอาจจะตั้งคำถาม
แล้วอัตลักษณ์คืออะไร
อัตลักษณ์ในที่นี้ กระผมขอหมายความถึง
บุคลิกลักษณะรวมไปถึงนิสัยใจคอ
ถ้ามีคนคนหนึ่งมายืนโดยไม่ต้องพูดอะไรในกลุ่มพวกเรา
แล้วให้แต่ละแสดงความคิดว่าคนคนนั้นมีนิสัยอย่างไร
หลายคนก็จะต้องวิเคราะห์จากบุคลิก ท่าทาง ใบหน้า
โดยแต่ละคนก็จะแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เช่น เป็นคนใจดี เป็นคนไว้ใจได้ เป็นคนไว้ใจไม่ได้
เป็นคนมีเสน่ห์ บางคนชอบ บางคนไม่ชอบบุคคลนั้น เป็นต้น
ฉะนั้น
อัตลักษณ์จึงผลเป็นอย่างมากต่อความสำเร็จในการพูด ซึ่งมีนักปรัชญา นักศึกษา
นักค้นคว้า นักวิจัย ทั้งในอดีตและปัจจุบันได้เห็นความสำคัญดังกล่าว กระผมขอยกตัวอย่างเพียงบางท่าน
เช่น
สมัยกรีก
อริสโตเติลได้พูดเกี่ยวกับเรื่องอัตลักษณ์ของนักพูด โดยแบ่งออกเป็น 3 ข้อ คือ
1.ผู้พูดมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดและมีไหวพริบหรือไม่
2.ผู้พูดมีอุปนิสัยใจคอเป็นอย่างไร
3.ผู้พูดมีความตั้งใจดีต่อผู้ฟังหรือไม่
ศาสตราจารย์ เจมส์ ซี แม็กครอสกี
ได้แบ่งอัตลักษณ์ออกเป็น 3
ตอน คือ
1.อัตลักษณ์เดิม(Initial ethos) คือ
อัตลักษณ์ที่ผู้พูดมีอยู่ก่อนการพูดครั้งนั้นๆ
ซึ่งผู้ฟังส่วนใหญ่จะทราบกิติศักดิ์หรือทราบประวัติของผู้พูดมาบ้างแล้ว
ซึ่งอัตลักษณ์เดิมของผู้พูดเกิดมาจากหลายปัจจัย ดังนี้
1.1.พื้นฐานชีวิต พื้นฐานครอบครัว เช่น
เกิดในตระกูลที่ดี วงศ์ตระกูล มีความซื่อสัตย์สุจริต
รับใช้ชาติบ้านเมืองเป็นเวลานาน
1.2.ประวัติทางการศึกษา รางวัลทางการศึกษา เช่น ผู้พูดมีการศึกษาที่ดี จบปริญญาเอกจากสหรัฐอเมริกา
1.3.ผลงานต่างๆที่เป็นที่ประจักษ์ จะทำให้ผู้ฟังเกิดความศรัทธาในอัตลักษณ์ของนักพูด
1.4.อุปนิสัยใจคอ เช่น เป็นคนที่ปฏิบัติตามสัญญา
พูดจริง ทำจริง ไม่โกหก หลอกลวง
1.5.ตำแหน่งหน้าที่การงาน เช่น
มีตำแหน่งใหญ่โตทางการทหาร ตำรวจ หรือเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่
อัตลักษณ์เดิมนี้จะส่งผลต่อการพูด
เพราะจะทำให้เกิดการชักจูงใจและทำให้ผู้ฟังเชื่อถือได้ง่าย
2.อัตลักษณ์ใหม่(Derived ethos) เป็นอัตลักษณ์หรือภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้นในขณะการพูดต่อหน้าที่ชุมชน
หรือกำลังส่งสาร ซึ่งนักพูดที่ต้องการพูดจูงใจคนต้องคำนึงถึงสิ่งดังต่อไปนี้
2.1.การเรียบเรียงวาทะ เช่น ขึ้นต้นต้องมีความตื่นเต้น เนื้อเรื่องต้องมีความกลมกลืน
สรุปจบให้มีความจับใจ การเรียบเรียงวาทะ นี้จะทำให้การพูดเกิดสุนทรพจน์
เพราะจะทำให้มีการลำดับเวลา ลำดับเหตุการณ์ ไม่ทำให้ผู้ฟังเกิดความสับสน
2.2.ศิลปะในการส่งสาร เช่น การแสดงท่าทางต้องมี
สีหน้าท่าทางที่จริงใจ คำพูดมีความหนักแน่น
พูดชัดถ้อยชัดคำ
มีการออกเสียงพยัญชนะต่างๆอย่างถูกต้อง ร และ ล เช่น ลูกรอก โรงเรียน
โรงแรม ปลอดโปร่ง
2.3.พูดด้วยอารมณ์ กล่าวคือ
ต้องพูดด้วยอารมณ์ที่ออกมาจากใจ จริงใจ โดยมีอารมณ์ต่างๆที่มีความสัมพันธ์กับใบหน้า
ท่าทาง เช่น พูดเรื่องเศร้าก็ต้องมีใบหน้าที่เศร้า มีการเคลื่อนไหวร่างกายที่ช้า
พูดเรื่องสนุกสนาน ก็ต้องยิ้มแย้มแจ่มใส มีการเคลื่อนไหวร่างกายที่กระฉับกระเฉง
เป็นต้น
2.4.ใช้วาทศิลป์โดยคิดค้น คำคม ถ้อยคำ แปลก ใหม่
การพูดที่คำคม มีการใช้ถ้อยคำแปลก ใหม่ๆ ผสมผสานจะทำให้ผู้ฟังเกิดความสนใจ เช่น
โสเภณีผูกขาด ชัดเจนที่คลุมเครือ เอาคนออกจากน้ำเอาน้ำออกจากคน เป็นต้น
3.อัตลักษณ์ปลายทาง(Terminal ethos) คือ อัตลักษณ์หรือภาพลักษณ์ที่ผู้พูดมุ่งหวังอยากให้เกิดขึ้นหลังจากการฟังการพูดสิ้นสุดลง เพราะก่อนพูด
ผู้พูดจะต้องตั้งวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายก่อนพูดจูงใจว่า
ผู้พูดต้องการอะไรเสียก่อน ซึ่งหลังพูด นักพูดที่ดีจะต้องมาทำการวิเคราะห์ว่า
ทำไมการพูดในครั้งนั้นถึงประสบความสำเร็จ ทำไมการพูดในครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จ
เป็นเพราะสาเหตุใด
ดังนั้น อัตลักษณ์ของนักพูดจึงมีความสำคัญต่อการพูดจูงใจผู้ฟังเป็นอย่างยิ่งและเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการจูงใจผู้ฟัง
นักพูดที่ต้องการความสำเร็จจะต้องนำเรื่องของ อัตลักษณ์ในการพูด ไปทำการศึกษาค้นคว้าและฝึกปฏิบัติต่อไปก็จะส่งผลให้ประสบความสำเร็จในการใช้วาทศิลป์เพื่อการพูดจูงใจผู้ฟังได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น