วันอาทิตย์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2560

การพัฒนาตนเองกับการทำงานด้านการตลาด


นักการตลาดกับการพัฒนาตนเอง
โดย....ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก
            ปัจจัยที่ทำให้นักการตลาดประสบความสำเร็จในการทำงานด้านการตลาดมีหลายปัจจัยแต่มีปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่งก็คือ นักการตลาดจะต้องเป็นบุคคลที่ต้องมีการพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ในบทความนี้ เราจะมาพูดเรื่องนี้กัน การพัฒนาตนเองของนักการตลาดมีดังนี้
            1.มีอิทธิบาท 4 ในการทำงานด้านการตลาด  หลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา มีมากมาย ไม่ว่าจะเกี่ยวกับ การดำรงชีวิต  การทำสมาธิ การรักษาศีล และหลักธรรมสำหรับใช้ในการทำงาน ซึ่งหลักธรรมในการทำงานที่สำคัญที่นักการตลาดสามารถนำเอาไปประยุกต์ใช้ได้ก็คือ หลักอิทธิบาท 4 คือ
ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสา
1.1.ฉันทะคือ ความรัก ความพอใจ ความชอบ ในสิ่งที่เราต้องการอยากเป็นหรือต้องการประสบความสำเร็จ เช่น ถ้าเราต้องการเป็นนักการตลาดที่ประสบความสำเร็จ  เราจะต้องมีความรักในการทำงานทางด้านการตลาดเสียก่อน  เพราะถ้าเรามีความรักความชอบหรือมีพอใจ ในงานด้านการตลาด เราก็จะทำงานทางด้านการตลาดได้ดี
1.2.วิริยะ คือ ความเพียรพยายาม ความขยันขันแข็ง ถ้าเรามีความรักอย่างเดียว ความชอบอย่างเดียวหรือมีฉันทะอย่างเดียวคงไม่พอ  นักการตลาดที่ประสบความสำเร็จจะต้องมีวิริยะตามมา เช่น ถ้าเราอยากเป็นนักการตลาดที่ดี  เราต้องมีความเพียรพยายาม มีความขยันขันแข็งในการศึกษา หาความรู้และขยันในการเรียนรู้งานด้านการตลาด 
1.3.จิตตะ คือ การเอาใจใส่ ใจ จดจ่อกับสิ่งที่เราอยากประสบความสำเร็จ เช่น ถ้าเราอยากเป็นนักการตลาดที่ประสบความสำเร็จ  เราต้องมีใจที่จดจ่อ คิดถึงงานด้านการตลาดทุกวัน  มีการศึกษาหาความรู้ตลอดเวลา เรียนรู้ว่าทำไมนักการตลาดระดับโลกถึงประสบความสำเร็จ  เมื่อมีใจจดจ่อ เราก็จะหาวิธีการเพื่อไปถึงเป้าหมายที่เราต้องการ
 
1.4.วิมังสา คือ รู้จักคิดพิจารณา ใคร่ครวญ วิเคราะห์ว่าทำไม เราถึงไม่ประสบความสำเร็จในการทำงานทางด้านการตลาด หรือ เกิดปัญหาอะไรขึ้นภายในงานด้านการตลาดที่เราได้ทำ  เมื่อมีการวิเคราะห์ ใคร่ครวญ พิจารณา เราก็จะเกิดการแก้ไขสิ่งเหล่านี้  
ดังนั้น หากเราต้องการประสบความสำเร็จในการทำงานด้านการตลาด เราต้องมีหลักอิทธิบาท 4 ในการทำงาน ได้แก่ 1.ฉันทะคือ มีความรัก ความชอบ ในสิ่งนั้น แต่ถ้าต้องการประสบความสำเร็จในระดับสูง  นักการตลาดคนนั้นจะต้องมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าเสียก่อน  2.วิริยะ คือ มีความเพียรพยายาม ความขยันขันแข็งในงานด้านการตลาด 3.จิตตะ คือ จดจ่อกับงานด้านตลาด  4.วิมังสา คือ มีความคิดใคร่ครวญ พิจารณา แก้ไขปัญหาสิ่งต่างๆ  ในการทำงานด้านการตลาด หลักอิทธิบาท 4 ถึงแม้จะเป็นหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีมา 2560 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีความทันสมัย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานด้านการตลาดได้
            2.ความสำเร็จเริ่มต้นที่ความกล้า
คนที่ประสบความสำเร็จในด้านการตลาด  เขามักเริ่มต้นจากความกล้าก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งความกล้าในที่นี้มีหลายประการที่คนประสบความสำเร็จในด้านการตลาดจะต้องกล้าเริ่มต้น ดังนี้คือ
2.1.Idea กล้าคิด คนที่ประสบความสำเร็จในด้านการตลาดส่วนใหญ่จะเป็นคนที่กล้าคิด และคนที่ประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในการตลาด มักจะคิดอะไรไม่เหมือนคนอื่น เขาเหล่านั้นจะกล้าคิดต่าง คิดแปลก จากคนทั่วไป เช่น
สตีฟ จอบส์ ได้ก่อตั้งบริษัท apple  และมีความกล้าในการเสนอไอเดียต่างๆ จนก่อให้เกิดสินค้าตระกูล I ขึ้น เช่น ipod iphone ipad iMac iMat iBoard  เป็นต้น
2.2.Imagine กล้าจินตนาการ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กล่าวไว้ว่า จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ คนปกติธรรมดาในยุคปัจจุบันได้เรียนหนังสือกันเกือบทุกคน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตไม่ว่าการทำงาน หน้าที่ สาเหตุหนึ่งเกิดจาก การขาดจินตนาการ คนปกติธรรมดา มักจะทำอะไรเหมือนคนอื่นๆ ไม่กล้าที่จะลองจินตนาการ ไม่กล้าที่จะคิดสร้างสรรค์สิ่งแปลกๆใหม่ๆขึ้นมาในชีวิต นักการตลาดที่ต้องการประสบความสำเร็จก็เช่นกัน ท่านจำเป็นจะต้องพัฒนาตนเองเรื่องของ จินตนาการ
2.3.Action กล้าลงมือทำ เมื่อมีความคิดแล้ว มีจินตนาการแล้ว แต่ขาดซึ่งการลงมือทำ สิ่งต่างๆที่คิด ที่จินตนาการก็ไม่สามารถเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ ดังนั้นจงกล้าที่จะลงมือทำ ลงมือปฏิบัติ สิ่งต่างๆจึงจะเกิดขึ้น เหมือนดังที่เราคิดและเราจินตนาการ
2.4.Develop กล้าพัฒนา เมื่อลงมือทำไปแล้ว แน่นอนว่าจะต้องเกิดการผิดพลาด บกพร่องในสิ่งที่เราทำ บุคคลที่ประสบความสำเร็จในด้านการตลาดมักกล้าที่จะพัฒนา กล้าเปลี่ยนแปลง แผนต่างๆที่คิดไว้ ที่จินตนาการไว้ เพื่อให้การทำงานทางด้านการตลาดนั้นเกิดความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
2.5.Control กล้าที่จะควบคุม คนที่ประสบความสำเร็จทางด้านการตลาดส่วนมากแล้ว มักจะเป็นคนที่ควบคุมอารมณ์ ควบคุมตนเอง อยู่เสมอ เขาจะเป็นคนที่มีวินัยในการทำสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะวินัยในการทำงาน เช่น นักการตลาดที่ประสบความสำเร็จเขาจะจัดสรรเวลาในการทำงานอย่างเป็นระบบ แล้วเขาก็จะลงมือเขียนตามแผนการที่เขาวางไว้ โดยที่ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง
2.6.Change กล้าเปลี่ยนแปลง คนเราโดยมากมักไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง แต่คนเราจะเจริญก้าวหน้าก็ด้วยเพราะการเปลี่ยนแปลง หากท่านเป็นผู้หนึ่งที่ต้องการประสบความสำเร็จทางด้านการทำงานด้านการตลาด ท่านต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง แล้วท่านจะประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางความคิด เปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน
หากว่าท่านมีความกล้าตามข้อความข้างต้น กระผมเชื่อว่า ท่านจะประสบความสำเร็จในการทำงานด้านการตลาดอย่างแน่นอน จงเดินทางเข้าไปหาความสำเร็จ แทนการที่จะนั่งรอความสำเร็จมาหาท่าน หากว่าท่านต้องการไปเที่ยวภูเขาที่สวยงามสักลูก ขอให้ท่านจงเริ่มต้นออกเดินทาง แทนที่ท่านจะนั่งรอ นอนรอ ให้ภูเขาลูกนั้น เคลื่อนตัวมาหาท่าน จงกล้าที่จะเริ่มต้นแล้วท่านจะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน
3.มีเป้าหมายในชีวิต เป้าหมายมีความสำคัญมากต่อการดำรงชีวิตของบุคคลที่ต้องการประสบความสำเร็จไม่เว้นแม้บุคคลที่ต้องการประสบความสำเร็จทางด้านการตลาด  คนที่มีเป้าหมายเปรียบเสมือนเรือที่มีหางเสือ เมื่อลอยอยู่กลางทะเลแต่เรือสามารถลอยและเคลื่อนไปอีกฝั่งหนึ่งได้ หากเรือนั้นมีการกำหนดทิศทาง กำหนดเป้าหมาย แต่หากเรือลำใดไม่มีการกำหนดทิศทาง กำหนดเป้าหมายแล้ว เรือลำนั้นก็จะลอยอยู่กลางทะเล ไม่สามารถไปถึงฝั่งได้
4.รู้จักบริหารเวลา คนที่ประสบความสำเร็จในด้านการตลาด มักสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นกับชีวิต ดังนั้นเขาจึงเป็นคนที่รู้จักบริหารเวลา เขาจะมีการจัดสรรเวลา และทำงานอย่างเป็นระบบ เขาจะไม่เสียเวลาไปกับสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ แต่เขาจะรู้จัก พัฒนาตนเอง ปรับปรุงตนเอง แก้ไขตนเองเสมอ
5.เต็มที่กับทุกเรื่อง คนที่ประสบความสำเร็จในด้านการตลาด เขามักเป็นคนที่มีสมาธิจดจ่อ เมื่อเขาทำงาน เขาจะทำงานนั้นด้วยจิตใจที่ จดจ่อ เขาจะมีความตั้งใจสูงกับงานที่เขาทำ และเขาจะมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ เมื่อกำหนดส่งงาน เขาก็จะทำเสร็จตรงตามกำหนดเวลาดังกล่าว
6.ทำทุกอย่างที่มีโอกาส คนที่ประสบความสำเร็จในด้านการตลาดเขามักจะทำงานต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายให้ทำ ถึงแม้งานนั้นจะยากเย็นแสนเข็ญและเป็นสิ่งใหม่สำหรับเขา แต่เขาคิดว่านี่คือโอกาสในการที่จะได้เรียนรู้ อีกทั้งได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ จากงานที่เขาได้รับมอบหมายแทนที่จะพร่ำบ่น แต่ตรงกันข้ามเขาจะทำด้วยความเต็มใจ
7.กล้าที่จะล้มเหลว คนที่ประสบความสำเร็จในด้านการตลาด เขามักเป็นคนที่กล้าที่จะล้มเหลว เพราะเขารู้ดีว่า คนที่ประสบความสำเร็จมากมายในอดีต เป็นบุคคลที่ล้มเหลวในการทำสิ่งต่างๆ แต่พวกเขาเหล่านั้นไม่เคยยอมที่จะล้มเลิกต่างหาก จงกล้าที่จะล้มเหลว แล้วท่านจะเป็นอีกผู้หนึ่งที่ประสบความสำเร็จ ยิ่งท่านล้มเหลวมาก ท่านก็ยิ่งมีโอกาสที่จะได้เรียนรู้งานมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้ท่านเดินทางเข้าใกล้ความสำเร็จยิ่งขึ้นอีก
ท้ายนี้อยากฝากแง่คิดสำหรับนักการตลาดที่ต้องการพัฒนาตนเองทุกคน เป็น คำคม ของสตีฟ จ๊อบส์ ซึ่งได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่ผลงานของเขายังคงเป็นประโยชน์ต่อโลกอีกมากมาย ถ้าคุณใช้ชีวิตในแต่ละวันเหมือนมันเป็นวันสุดท้ายของคุณแล้วล่ะก็ วันหนึ่งคุณจะพบว่าสิ่งที่ทำไปนั้นถูกต้อง


วันอาทิตย์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2560

6 เทคนิคในการปรับปรุงการพูดต่อหน้าที่ชุมชน

6 เทคนิคในการปรับปรุงการพูดต่อหน้าที่ชุมชน
โดย....ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก
            เทคนิคในการปรับปรุงการพูดต่อหน้าที่ชุมชนมีหลายวิธี แต่สำหรับบทความฉบับนี้  ขอเสนอเทคนิค 6 ข้อสำหรับใช้ในการปรับปรุงการพูดต่อหน้าที่ชุมชนของท่านให้ได้ดียิ่งขึ้น  6 เทคนิคในการปรับปรุงการพูดต่อหน้าที่ชุมชนมีดังนี้
          1.ฝึกฝน ฝึกฝนและฝึกฝน การฝึกฝนเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นและมีความสำคัญเป็นอันดับแรกของการปรับปรุงการพูดต่อหน้าที่ชุมชนให้ดียิ่งขึ้น เพราะการฝึกฝน ก็คือการทำซ้ำนั่นเอง กล่าวคือ เมื่อเราทำซ้ำหรือขึ้นไปพูดต่อหน้าที่ชุมชนบ่อยๆซ้ำๆ  เราก็จะเกิดความเคยชินต่อเวทีการพูดต่อหน้าที่ชุมชน  และส่งผลต่อการพัฒนาการพูดต่อหน้าที่ชุนชนของเราให้ได้ดียิ่งขึ้น
          2.บันทึก วีดีโอและนำมาดู การฝึกฝนต่อหน้าที่ชุมชนทำให้เราเกิดความเคยชินต่อเวทีการพูดก็จริง แต่เราก็ไม่สามารถรู้จุดอ่อนหรือจุดที่เราจะต้องแก้ไขหรือต้องการที่จะปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น สำหรับคนที่ฝึกการพูดกับสถาบันการพูดเช่น สโมสรฝึกการพูดหรือสมาคมการพูดก็จะมีผู้วิจารณ์การพูดของเราว่า  เราควรปรับปรุงการพูดต่อหน้าที่ชุมชนของเราอย่างไร เช่น  ไม่ควรพูดคำว่านะครับ นะค่ะตลอดเวลา  ไม่ควรใช้มือประกอบมากจนเกินไป  สิ่งเหล่านี้ผู้วิจารณ์การพูดได้เสนอแนะเราก็จริงอยู่  แต่เราก็ไม่สามารถเห็นภาพได้อย่างชัดเจนอยู่ดี ดังนั้นทางที่ดีควรลงทุนหาเครื่องบันทึก วีดีโอมาบันทึกการพูดต่อหน้าที่ชุมชนของเราในแต่ละครั้งแล้วนำเอาไปดูเพื่อที่จะนำเอาสิ่งที่บันทึกไว้ในเครื่องบันทึกวีดีโอซึ่งเป็นการพูดต่อหน้าที่ชุนชนของเราแต่ละครั้งไปใช้ในการแก้ไขปรับปรุงการพูดต่อหน้าที่ชุมชนของเราต่อไป
          3.ฟัง ฟัง และฟัง นักพูดที่ดีต้องเป็นนักฟังที่ดี  การฟังจะส่งผลต่อการพูดเพราะจะทำให้เราทราบว่าใครคือผู้พูดที่ดีหรือใครคือผู้พูดที่ไม่ดี  เราจะรู้ได้จากการฟังนั่นเอง สำหรับการฟัง เนื่องจากในยุคปัจจุบันเรามีอินเตอร์เน็ตซึ่งในอินเตอร์เน็ตมีคลิปต่างๆที่สามารถทำให้เราได้ยินทั้งเสียงและทั้งเห็นภาพ เช่น Youtube หรือ เว็ปไซค์ต่างๆ  ซึ่งทำให้สะดวกสบายกว่าสมัยในอดีต ซึ่งบุคคลที่ต้องการจะปรับปรุงการพูดต่อหน้าที่ชุมชนของตนเองจะต้องตามไปฟังนักพูดในสถานที่ต่างๆ ซึ่งทำให้เสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายต่างๆในการเดินทาง  ด้านการฟังเราควรเลือกฟังนักพูดที่มีชื่อเสียงหรือนักพูดที่คนยกย่องว่าใช้วาทศิลป์ได้ดี  สืบเนื่องจากเวลาในชีวิตของเรามีจำกัด ถ้าเราจะฟังทุกคนในสื่ออินเตอร์เน็ต เราคงไม่สามารถทำได้เพราะมีมากมายเหลือเกิน ทั้งภาษาไทยทั้งภาษาต่างประเทศ
            4.ต้องพกสมุดโน๊ต สมุดโน้ต เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเพราะ สมุดโน้ตจะทำให้เราสามารถบันทึกการพูดของเราหรือสามารถบันทึกข้อมูลต่างๆที่จะสามารถนำเอาไปใช้ในการพูดต่อหน้าที่ชุมชน อีกทั้งสมุคโน๊ตยังสามารถบันทึกสคิปต่างๆที่เราจะใช้พูด เราสามารถเปิดสมุดโน้ตแล้วนำเอามาทบทวนได้ตลอดเวลา เพราะความคิดและความจำของคนเรามีจำกัด  เมื่อเรามีความคิดหรือคำคมที่ดีที่สามารถนำเอาไปใช้ประกอบการพูด เราต้องรีบจดในสมุคโน๊ตทันที
            5.มีวินัย ซื่อสัตย์ต่อตนเอง  ทั้ง 4 ข้อที่เขียนมาข้างต้นจะไม่สามารถทำได้เลย ถ้าเราขาดซึ่งความมีวินัยและความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ไม่ว่าจะเรื่องของการ ฝึกฝน  การบันทึกวีดีโอเพื่อนำเอามาดู การฟัง ฟังและฟังนักพูดที่มีชื่อเสียงให้มากที่สุด และการพกสมุดโน้ตเพื่อจดข้อมูลต่างๆที่ใช้ประกอบการพูด  จงมีวินัยและซื่อสัตย์ต่อตนเอง แล้วท่านจะสามารถปรับปรุงการพูดต่อหน้าที่ชุมชนของท่านให้ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน


วันเสาร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2560

หลักการเทศนาพระคริสตธรรม...ตอนที่ 3 ชื่อเรื่อง


หลักการเทศนาพระคริสตธรรม...ตอนที่ 3 ชื่อเรื่อง

โดย....ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก


                      การกำหนดโครงร่างของคำเทศนา ก็เหมือนกับออกแบบแปลงบ้านในการสร้างบ้าน เพราะการกำหนดโครงร่างของคำเทศนาจะทำให้เราได้รู้ถึงการเทศนาทั้งหมดที่เราจะนำไปเทศนา ซึ่งประกอบไปด้วย   ชื่อเรื่อง บทนำ เนื้อเรื่อง บทสรุป และคำเชื้อเชิญ

                        ชื่อเรื่อง จะเป็นตัวกำหนดขอบเขตของเนื้อหาจะทำให้เราไม่ออกนอกเรื่อง อีกทั้งชื่อเรื่องยังเป็นตัวกำหนดโครงร่างในการเทศนา การตั้งชื่อเรื่องควรตั้งตั้งแต่ต้นหรือเป็นสิ่งที่ต้องทำก่อนเป็นอันดับแรก การตั้งชื่อเรื่องที่ดี ควรตั้งให้มีลักษณะดังนี้

1.1.มีความเข้าใจง่าย  มีความชัดเจน มีความสั้นกระทัดรัด

1.2.มีความเหมาะสมกับเรื่องที่จะนำไปเทศนาหรืออาจจะเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน

1.3.มีความเกี่ยวข้องกับความต้องการของผู้ฟังโดยส่วนใหญ่

1.4.มีความแปลกใหม่   มีความแตกต่าง โดยเน้นเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง

1.5.ไม่เป็นหัวข้อที่กว้างขว้างจนเกินไป

                        ตัวอย่างการตั้งชื่อเรื่องในแบบต่างๆ

ก.ตั้งแบบคำสั่ง เช่น  “ จงเดินเข้าไปเคาะประตูสวรรค์”

ข.ตั้งแบบคำถาม เช่น  “ เราจะรู้จักพระเจ้าได้อย่างไร ?

ค.ตั้งแบบครอบคลุมเนื้อหาของคำเทศนา เช่น “ การอธิษฐานที่สามารถเชื่อมโยงกับพระเจ้าได้”

                         





วันพฤหัสบดีที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2560

หลักการเทศนาพระคริสตธรรม...ตอนที่ 2 การจัดเตรียมคำเทศนา


หลักการเทศนาพระคริสตธรรม...ตอนที่ 2 การจัดเตรียมคำเทศนา

โดย....ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก


                 การเตรียมคำเทศนามีความสำคัญมากต่อการเทศนา เพราะการเตรียมคำเทศนาจะทำให้เราเกิดความมั่นใจในตนเอง การเตรียมคำเทศนาจะทำให้เราสามารถเรียงลำดับเหตุการณ์ วัน เวลา สถานที่ได้อย่างเหมาะสม การเตรียมคำเทศนาจะทำให้เราเทศนาได้อย่างไม่สับสนวุ่นวาย การเตรียมคำเทศนาจะทำให้เรามีเวลาที่จะศึกษาพระคัมภีร์เพิ่มเติมในส่วนของเนื้อหาที่เราจะใช้เทศนา เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง การเตรียมคำเทศนาจะทำให้เราเกิดความคิดใหม่ๆเพิ่มเติมในการใช้ในการเทศนา

                สำหรับข้ออ้างหรือสาเหตุที่ทำให้เราไม่อยากเตรียมการเทศนาคือ เรามักจะหาข้ออ้างต่างๆ เช่น ไม่มีเวลามากพอ  ไม่มีอารมณ์ในการเตรียม  ประมาทคิดว่าพระวิญญาณจะนำพาให้เราเกิดความคิดและคำพูดในเวลาเทศนาเอง เป็นต้น

                การเตรียมคำเทศนา

1.จงอธิฐานถึงพระเจ้าให้ช่วยนำผู้ฟัง โดยเลือกพระธรรมที่เหมาะสมกับผู้ฟัง อีกทั้งต้องรู้จักวิเคราะห์ผู้ฟังในเรื่องของ เพศ วัย อาชีพ อายุ  

2.อ่านพระวจนะหรือพระคัมภีร์ในบทที่ได้รับจากพระเจ้า โดยอ่านดังๆ ซ้ำไปซ้ำมาหลายครั้งเพื่อทำให้เกิดความจำและช่วยให้เกิดความมั่นใจ อีกทั้งควรจินตนาการถึงพระวจนะที่จะใช้เทศนา

3.เขียนโครงสร้างของคำเทศนา โดยมีคำนำหรือคำขึ้นต้น   เนื้อหาหรือตอนกลาง  สรุปหรือตอนท้าย ส่วนมากแล้ว คำนำมักจะเป็นคำพูดที่สร้างความสนใจหรือสร้างความดึงดูดเพื่อให้ผู้ฟังสนใจ  เนื้อหาหรือตอนกลาง มักจะเป็นคำอธิบาย เป็นเรื่องความต้องการของผู้ฟัง สรุปมักจะเป็นเรื่องของการวางแผนการทำงานต่อไปและควรมีการสรุปโดยใช้ถ้อยคำที่ประทับใจ

4.ฝึกซ้อมการเทศนา โดยอาจจะฝึกซ้อมกับกระจก และต้องมีการฝึกพูดตามโครงร่างการเทศนาจริงๆ มีการใช้ท่าทางประกอบจริงๆ เสมือนว่าเรากำลังเทศนาจริงๆ เพื่อทำให้เกิดความชำนาญและความมั่นใจยิ่งขึ้น

5.การเตรียมโดยการเลือกหัวข้อที่จะเทศน์ ควรพิจารณาจากเหตุการณ์หรือสิ่งแวดล้อมดังนี้

5.1.พิจารณาจากข่าวสำคัญ เหตุการณ์ของโลก

5.2.พิจารณาวันสำคัญ เทศกาล ประเพณี เช่น วันคริสตมาส  วันอิสเตอร์  วันแม่ วันพ่อ วันเกิด เป็นต้น

5.3.พิจารณาจากการสัมภาษณ์หรือการพูดคุยกับกลุ่มคนหรือกลุ่มผู้ฟังที่เราจะไปเทศนาว่า เขามีปัญหาอะไรหรือมีความต้องการอะไร

5.4.พิจารณาถึงระยะเวลาในการเทศนา เช่น เราจะต้องเทศนา 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี เราจะแบ่งหัวข้ออย่างไร เพื่อให้ผู้ฟังเกิดความสนใจ เมื่อเทศนาไปอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนหัวข้อเพื่อให้เกิดความเหมาะสม โดยอาจจะมีการเรียงลำดับหัวข้อใหม่เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ในช่วงเวลานั้นๆหรืออาจจะตัวบางหัวข้อทิ้งไป

5.5.ปัจจัยอื่นๆที่ประกอบการเตรียมคำเทศนา เช่น การพักผ่อนอย่างเพียงพอก่อนเทศนา  การทบทวน ฝึกซ้อมให้เกิดความมั่นใจ

                ดังนั้น การเตรียมคำเทศนา มีความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับนักเทศน์ทั้งเก่าและใหม่ โดยเฉพาะนักเทศน์หน้าใหม่หรือมือใหม่หัดขับ มีความจำเป็นจะต้องเตรียมการเทศนาให้มากๆ แต่ถ้าเรามีประสบการณ์การเทศนามากขึ้นหรือมีโครงร่างการเทศนามากๆ การเทศนาก็จะมีความง่ายขึ้น เพราะ นักเทศน์หลายท่านได้เตรียมโครงร่างการเทศนาไว้1โครงร่าง แล้วนำเอาไปเทศนาในโบสถ์ต่างๆหลายๆแห่งจนเกิดความชำนาญและเกิดความมั่นใจในโครงร่างเทศนานั้นๆ  

วันพุธที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2560

หลักการเทศนาพระคริสธรรม...ตอนที่ 1 นักเทศน์


หลักการเทศนาพระคริสธรรม...ตอนที่ 1 นักเทศน์

โดย....ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก


                การเทศนาพระคริสธรรมหรือการเทศนาความจริงของพระคัมภีร์ ตามคริสตจักรต่างๆมีความสำคัญอย่างมาก บุคคลที่ต้องการเทศนามีความจำเป็นจะต้องเรียนรู้หลักการเทศนาเพื่อให้การเทศนาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

                การเทศนา ในที่นี้หมายถึง การสื่อสารความจริงของพระเจ้าซึ่งมีอยู่ในพระคัมภีร์หรือไบเบิ้ล โดยผ่านบุคคลคือผู้พูด ไปยังผู้ฟังได้อย่างมีประสิทธิภาพกล่าวคือ ผู้ฟังเกิดความสนใจและผู้ฟังเกิดเข้าใจในพระคัมภีร์มากขึ้น ซึ่งผลของการเทศนาอาจส่งผลทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้ฟัง อีกทั้งผู้ฟังต้องการติดตามเรื่องราวของพระเจ้าและพระเยซูมากยิ่งขึ้น

                ผู้เทศนาหรือนักเทศน์พระคริสธรรมควรมีลักษณะอย่างไร

นักเทศน์ ต้องเป็นบุคคลที่พระเจ้าทรงใช้ นักเทศน์ ต้องเป็นบุคคลที่รับใช้งานของพระเจ้า โดยต้องสื่อสารข้อมูลข่าวสารของพระเจ้าสู่ผู้ฟังหรือมนุษย์

                ปัจจัยที่ทำให้การเทศนาไม่ประสบความสำเร็จมีดังนี้

1.ผู้เทศนาหรือนักเทศน์  ไม่ได้เรียนรู้หลักการเทศนา พูดมาก เนื้อหาน้อย พูดจาสับสน  ไม่รู้จักการเรียงลำดับ ขาดการเตรียมตัวที่ดี ขาดการสอดใส่อารมณ์ในเวลาเทศน์และที่สำคัญคือ ต้องมีความรู้ในเนื้อหาของพระคัมภีร์เป็นอย่างดี โดยต้องทำการศึกษาพระคัมภีร์ให้เกิดความเข้าใจเพราะการเทศนา นักเทศน์จะต้องพูดเรื่องราวโดยเน้นเนื้อหาที่มีความเกี่ยวข้องกับพระคัมภีร์ นักเทศนาหรือนักเทศน์ไม่ควรเทศนาเรื่องราวภายนอกหรือเรื่องราวทางโลกมากจนเกินไป

2.ผู้ฟัง ไม่มีความเข้าใจหรือไม่มีความเชื่อเกี่ยวกับพระเจ้า  ความเชื่อถือ ความศรัทธามีความสำคัญมากเพราะถ้าผู้ฟังขาดความศรัทธา ขาดความเชื่อหรือผู้ฟังบางคนมีความคิดที่เกิดการต่อต้านเรื่องราวของพระเจ้าแล้ว เขาก็จะฟังแบบจับผิดและไม่สนใจฟัง ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่น เรื่องสุขภาพ การพักผ่อนไม่เพียงพอนอนดึก  เรื่องที่เทศนาไม่น่าสนใจและไม่ตรงกับความต้องการของผู้ฟัง เป็นเรื่องรองๆลงมา

3.สิ่งแวดล้อมหรือบรรยากาศ  เช่น ห้องแคบเกินไป ห้องกว้างเกินไป อากาศร้อน อากาศหนาว เครื่องเสียงหรือไมโครโฟนไม่ดัง ไม่มีคุณภาพ รอบๆห้องเทศนามีเสียงดังรบกวนจนทำให้ขาดสมาธิ เป็นต้น

            คุณสมบัติของนักเทศนา

1.ต้องเป็นบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นผู้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของพระเจ้าเป็นอย่างดีโดยต้องหมั่นศึกษาหาความรู้จากแหล่งต่างๆไม่ว่าจากสถาบันการศึกษาที่สอนเกี่ยวกับพระธรรมหรือพระคัมภีร์ของพระเจ้า หรืออาจจะเรียนรู้ด้วยตนเองจากหนังสือหรือสื่อต่างๆ ที่เกี่ยวกับพระเจ้าหรือพระเยซู

2.ต้องเป็นบุคคลที่รับใช้พระเจ้าทางด้านฝ่ายวิญญาณ คือ มีความสัมพันธ์กับพระเจ้า เป็นบุคคลที่ดำเนินชีวิตตามหลักการของพระวจนะของพระเจ้า มีประสบการณ์เกี่ยวกับพระเจ้า และสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้ฟังได้  

3.ต้องเป็นบุคคลที่รับใช้ทางฝ่ายสังคม กล่าวคือ ต้องเป็นบุคคลที่มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี มีความรัก มีความเข้าใจ มีความเมตตากับผู้คน

4.ต้องเป็นบุคคลที่มีร่างกายที่สมบูรณ์  มีสุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยจนกระทั่งเกิดปัญหาหรือเป็นอุปสรรคต่อการเทศนา อีกทั้งยังต้องมีบุคลิกภาพทั้งภายในและภายนอกที่ดี  บุคลิกภายนอก เช่น การแต่งกาย  หน้าตา ทรงผม ท่าทาง  ส่วนบุคลิกภายใน เช่น การแสดงออก อารมณ์ ความรู้สึก ความปรารถนา ที่ออกมาจากจิตใจ

จริยธรรมหรือคุณธรรมของนักเทศนา

                นักเทศนาไม่ควรเทศนาโดยบิดเบือนความเป็นจริงจากพระคัมภีร์ หรือบิดเบือนพระวจนะ อีกทั้งควรสอนพระวจนะหรือสอนเนื้อหาในพระคัมภีร์เป็นหลัก และไม่ควรเทศนาถ้อยคำที่ลามก หยาบคาย สองแง่ สามง่าม ไม่แสดงอารมณ์ร้าย เช่น อารมณ์โกรธ อารมณ์หงุดหงิดใส่ผู้ฟัง อีกทั้งควรยอมรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ฟังเพื่อนำไปปรับปรุงการเทศนาในครั้งต่อๆไป





 

               

อัตลักษณ์ของนักพูด...มีผลต่อการพูดจูงใจคน


อัตลักษณ์ของนักพูด...มีผลต่อการพูดจูงใจคน

โดย....ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก


            อัตลักษณ์ของนักพูดมีความสำคัญต่อการพูดเป็นอย่างมาก เพราะอัตลักษณ์จะทำให้คนเลื่อมใสศรัทธานิยมชมชอบนักพูด ในทางกลับกันถ้านักพูดมีอัตลักษณ์ที่ไม่ดี ก็จะทำให้ผู้ฟังเกิดความระแวงแคลงใจ ขาดความศรัทธาในตัวของนักพูด อีกทั้งส่งผลต่อการพูดอีกด้วย

            ผู้อ่านหลายคนอาจจะตั้งคำถาม แล้วอัตลักษณ์คืออะไร

            อัตลักษณ์ในที่นี้ กระผมขอหมายความถึง บุคลิกลักษณะรวมไปถึงนิสัยใจคอ

            ถ้ามีคนคนหนึ่งมายืนโดยไม่ต้องพูดอะไรในกลุ่มพวกเรา แล้วให้แต่ละแสดงความคิดว่าคนคนนั้นมีนิสัยอย่างไร หลายคนก็จะต้องวิเคราะห์จากบุคลิก ท่าทาง ใบหน้า โดยแต่ละคนก็จะแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เช่น เป็นคนใจดี เป็นคนไว้ใจได้ เป็นคนไว้ใจไม่ได้ เป็นคนมีเสน่ห์ บางคนชอบ บางคนไม่ชอบบุคคลนั้น  เป็นต้น

            ฉะนั้น อัตลักษณ์จึงผลเป็นอย่างมากต่อความสำเร็จในการพูด ซึ่งมีนักปรัชญา นักศึกษา นักค้นคว้า นักวิจัย ทั้งในอดีตและปัจจุบันได้เห็นความสำคัญดังกล่าว กระผมขอยกตัวอย่างเพียงบางท่าน เช่น

            สมัยกรีก อริสโตเติลได้พูดเกี่ยวกับเรื่องอัตลักษณ์ของนักพูด โดยแบ่งออกเป็น 3 ข้อ คือ

1.ผู้พูดมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดและมีไหวพริบหรือไม่

2.ผู้พูดมีอุปนิสัยใจคอเป็นอย่างไร

3.ผู้พูดมีความตั้งใจดีต่อผู้ฟังหรือไม่

            ศาสตราจารย์ เจมส์ ซี แม็กครอสกี ได้แบ่งอัตลักษณ์ออกเป็น 3 ตอน คือ

1.อัตลักษณ์เดิม(Initial ethos) คือ อัตลักษณ์ที่ผู้พูดมีอยู่ก่อนการพูดครั้งนั้นๆ ซึ่งผู้ฟังส่วนใหญ่จะทราบกิติศักดิ์หรือทราบประวัติของผู้พูดมาบ้างแล้ว ซึ่งอัตลักษณ์เดิมของผู้พูดเกิดมาจากหลายปัจจัย ดังนี้

1.1.พื้นฐานชีวิต พื้นฐานครอบครัว เช่น เกิดในตระกูลที่ดี วงศ์ตระกูล มีความซื่อสัตย์สุจริต รับใช้ชาติบ้านเมืองเป็นเวลานาน

1.2.ประวัติทางการศึกษา รางวัลทางการศึกษา เช่น  ผู้พูดมีการศึกษาที่ดี  จบปริญญาเอกจากสหรัฐอเมริกา

1.3.ผลงานต่างๆที่เป็นที่ประจักษ์  จะทำให้ผู้ฟังเกิดความศรัทธาในอัตลักษณ์ของนักพูด

1.4.อุปนิสัยใจคอ เช่น เป็นคนที่ปฏิบัติตามสัญญา พูดจริง ทำจริง ไม่โกหก หลอกลวง

1.5.ตำแหน่งหน้าที่การงาน เช่น มีตำแหน่งใหญ่โตทางการทหาร ตำรวจ หรือเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่

            อัตลักษณ์เดิมนี้จะส่งผลต่อการพูด เพราะจะทำให้เกิดการชักจูงใจและทำให้ผู้ฟังเชื่อถือได้ง่าย   

2.อัตลักษณ์ใหม่(Derived ethos) เป็นอัตลักษณ์หรือภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้นในขณะการพูดต่อหน้าที่ชุมชน หรือกำลังส่งสาร ซึ่งนักพูดที่ต้องการพูดจูงใจคนต้องคำนึงถึงสิ่งดังต่อไปนี้

2.1.การเรียบเรียงวาทะ   เช่น ขึ้นต้นต้องมีความตื่นเต้น  เนื้อเรื่องต้องมีความกลมกลืน สรุปจบให้มีความจับใจ การเรียบเรียงวาทะ นี้จะทำให้การพูดเกิดสุนทรพจน์ เพราะจะทำให้มีการลำดับเวลา ลำดับเหตุการณ์ ไม่ทำให้ผู้ฟังเกิดความสับสน

2.2.ศิลปะในการส่งสาร เช่น การแสดงท่าทางต้องมี สีหน้าท่าทางที่จริงใจ คำพูดมีความหนักแน่น  พูดชัดถ้อยชัดคำ  มีการออกเสียงพยัญชนะต่างๆอย่างถูกต้อง ร และ ล เช่น ลูกรอก โรงเรียน โรงแรม ปลอดโปร่ง

2.3.พูดด้วยอารมณ์ กล่าวคือ ต้องพูดด้วยอารมณ์ที่ออกมาจากใจ จริงใจ โดยมีอารมณ์ต่างๆที่มีความสัมพันธ์กับใบหน้า ท่าทาง เช่น พูดเรื่องเศร้าก็ต้องมีใบหน้าที่เศร้า มีการเคลื่อนไหวร่างกายที่ช้า พูดเรื่องสนุกสนาน ก็ต้องยิ้มแย้มแจ่มใส มีการเคลื่อนไหวร่างกายที่กระฉับกระเฉง เป็นต้น

2.4.ใช้วาทศิลป์โดยคิดค้น คำคม ถ้อยคำ แปลก ใหม่ การพูดที่คำคม มีการใช้ถ้อยคำแปลก ใหม่ๆ ผสมผสานจะทำให้ผู้ฟังเกิดความสนใจ เช่น โสเภณีผูกขาด  ชัดเจนที่คลุมเครือ  เอาคนออกจากน้ำเอาน้ำออกจากคน  เป็นต้น

3.อัตลักษณ์ปลายทาง(Terminal ethos) คือ อัตลักษณ์หรือภาพลักษณ์ที่ผู้พูดมุ่งหวังอยากให้เกิดขึ้นหลังจากการฟังการพูดสิ้นสุดลง  เพราะก่อนพูด ผู้พูดจะต้องตั้งวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายก่อนพูดจูงใจว่า ผู้พูดต้องการอะไรเสียก่อน ซึ่งหลังพูด นักพูดที่ดีจะต้องมาทำการวิเคราะห์ว่า ทำไมการพูดในครั้งนั้นถึงประสบความสำเร็จ ทำไมการพูดในครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จ เป็นเพราะสาเหตุใด

          ดังนั้น อัตลักษณ์ของนักพูดจึงมีความสำคัญต่อการพูดจูงใจผู้ฟังเป็นอย่างยิ่งและเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการจูงใจผู้ฟัง นักพูดที่ต้องการความสำเร็จจะต้องนำเรื่องของ อัตลักษณ์ในการพูด ไปทำการศึกษาค้นคว้าและฝึกปฏิบัติต่อไปก็จะส่งผลให้ประสบความสำเร็จในการใช้วาทศิลป์เพื่อการพูดจูงใจผู้ฟังได้