มี IQ
EQ SQ ยังไม่พอต้องมี
AQ
โดย...ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุทธิชัย
ปัญญโรจน์
อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก
IQ EQ SQ และ AQ คือตัวอักษรย่อของภาษาอังกฤษ
ซึ่งมีความสำคัญกับการดำเนินชีวิตและการทำงาน
ซึ่งแต่ละตัวมีความหมายและรายละเอียดดังนี้
IQ ย่อมาจาก Intelligenec
Quotient คือ
ความฉลาดความสามารถทางเชาว์ปัญญา
ซึ่งถูกถ่ายทอดทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยที่คอยส่งเสริม
เชาว์ปัญญาเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้
แต่สามารถแสดงออกโดยผ่านพฤติกรรมต่างๆของบุคคล
ซึ่งในปัจจุบัน
เรามีเครื่องมือวัดจากแบบทดสอบหรือเครื่องมือที่นักวิทยาศาสตร์คิดค้นโดยมีการแบ่งออกเป็นทักษะต่างๆคือ ทักษะด้านคณิตศาสตร์ , ทักษะด้านการคิด , ทักษะด้านความจำ , ทักษะด้านการใช้ภาษา , ทักษะด้านความเร็วในการคำนวณต่าง
เป็นต้น
สำหรับปัจจัยที่ทำให้เกิด
IQ ได้แก่
กรรมพันธุ์ , อาหาร, การฝึกฝนในการใช้ความคิด , การเลี้ยงดู การอบรมสั่งสอน ตลอดจนสิ่งแวดล้อมภายในครอบครัว
เป็นต้น
EQ ย่อมาจาก Emotional Quotient หมายถึง เชาว์อารมณ์
หรือความฉลาดทางอารมณ์ คือ การรู้จัก เรียนรู้ ความรู้สึก
อารมณ์ของตนเองและผู้อื่น อีกทั้งสามารถบริหารจัดการกับอารมณ์ต่างๆได้ มีงานวิจัยออกมาหลายชิ้นพบว่า บางคนมี IQ ที่สูง มีความฉลาดทางสติปัญญา
แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต ก็เนื่องมาจากการขาด EQ
เช่น
นักวิทยาศาสตร์ระดับโลกหลายๆคน มีความฉลาดทางปัญญาระดับอัจฉริยะ แต่ครอบครัวแตกแยก
ภรรยาขอเลิก หรือ ทำงานร่วมกันคนอื่นๆไม่ได้ เป็นต้น
SQ ย่อมาจากคำว่า Social Quotient หมายถึง ความฉลาดทางสังคม
เป็นความสามารถในการปรับตัวในการเข้าสังคมได้ดี เป็นบุคคลที่มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี มีทักษะในการพูดจา ยิ้มแย้มแจ่มใส
มีบุคลิกภาพที่ดี
IQ EQ SQ 3
สิ่งข้างต้นนี้มีความสำคัญมาก แต่ภายในบทความนี้ อยากที่จะเน้นเกี่ยวกับเรื่องของ AQ
ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กัน
AQ ย่อมาจาก Adversity Quotient หมายถึง
ความสามารถในการฝันฝ่าอุปสรรคปัญหาต่างๆ ทั้งต้องมีความอดทน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ
ร่างกาย จิตใจ เพื่อที่จะบรรลุถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้ ตัวอย่างเช่นนักไต่เขา 3 คน
คนที่ 1 เมื่อเห็นภูเขาสูงๆ แล้ว
ปฏิเสธไม่อยากที่จะปีนเพราะกลัวเหนื่อย ทั้งๆที่ตนเองก็สามารถปีนขึ้นได้ เราเรียกนักไต่เขาคนนี้ว่า “ Quitters” หรือ
ผู้ที่ไม่ยอมเดินทางหรือหยุดเดินทางเมื่อเจอปัญหาอุปสรรค มีลักษณะของการหลบเลี่ยง
คนที่ 2 เมื่อปีนเขาไปได้สักครึ่งทาง
บ่นว่าเหนื่อยแล้วหยุดพัก ตั้งเต้นท์แล้วไม่ยอมปีนต่อ สำหรับลักษณะของคนที่ 2
เมื่ออยู่ภายในองค์กรมักไม่ชอบทำตนให้เด่นเกินหน้าใคร เราเรียกนักไต่เขาคนนี้ว่า “
Campers” หรือ ผู้หยุดพักพิงเมื่อได้ที่เหมาะ
คนที่ 3 จะพยายามปีนให้ไปถึงจุดสูงสุดบนยอดเขา
เป็นนักปีนเขาที่อุทิศตนไม่หยุดยั้ง ชอบความท้าทาย มีแรงจูงใจ มีวินัย
เมื่อปีนถึงจุดสูงสุดบนยอดเขา มักจะพูดกับตัวเองและผู้คนรอบข้างว่า “
มีเขาลูกไหนที่สูงกว่านี้ให้ปีนอีกไหม” เราเรียกนักไต่เขาคนนี้ว่า “ Climbers” หรือ ผู้ที่รุกไปข้างหน้าไม่หยุดยั้ง
ในการดำเนินชีวิตและการทำงาน
ท่านคิดว่าตัวเอง มีลักษณะเหมือนนักปีนเขาคนใด
เพราะถ้าหากท่านเหมือนกับนักปีนเขาคนที่ 1 และคนที่ 2
ท่านมีโอกาสเป็นผู้แพ้มากกว่าผู้ที่ชนะ แต่ถ้าหากท่านมีลักษณะเหมือนนักปีนเขาคนที่
3 ท่าน มีโอกาสในการเป็นผู้ชนะ มากกว่าผู้พ่ายแพ้
อีกทั้ง AQ ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องของความสามารถในการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วย
ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1.คนที่มี
AQ จะมีความสามารถในการควบคุมสถานการณ์ต่างๆได้เป็นอย่างดี
กล่าวคือถ้าต้องเผชิญเหตุการณ์ร้ายๆหรือพบกับปัญหาอุปสรรคต่างๆจะสามารถอดทนต่อสิ่งเหล่านั้นได้
2.คนที่มี
AQ จะมีวิธีคิดหรือวิธีในการมองปัญหา
ตามความเป็นจริงและสามารถแก้ไขปัญหาหรือสถานการณ์ต่างๆ พร้อมทั้งหาทางออกได้
3.คนที่มี
AQ จะเป็นคนที่มีอดทน
ทนทาน ต่อปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ อีกทั้งมีความมุมานะในการฝ่าฟันปัญหาต่างๆได้เป็นอย่างดี
โดยสรุป IQ EQ SQ มีความสำคัญ
แต่คนที่ประสบความสำเร็จในการทำงานหรือในชีวิตจะขาดเรื่องของ AQ ไม่ได้เลย
กล่าวคือ มีความฉลาด มีการอารมณ์ที่ดี มีการเข้าสังคมที่ดี แต่ถ้าขาดไปซึ่ง
ความอดทน ความมานะ บากบั่น ก็ไม่มีทางประสบความสำเร็จได้